หยุดนิสัยชอบแก้ตัว


[ 26 มี.ค. 2562 ] - [ 18270 ] LINE it!

หยุดนิสัยชอบแก้ตัว
พฤติกรรมการปัดความรับผิดชอบหรือแก้ตัว เป็นอุปสรรคในการพัฒนาตัวเอง หรือการทำงานร่วมกับคนอื่น แล้วจะหยุดการแก้ตัวได้อย่างไร 
 
เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
จากรายการทันโลกทันธรรม ออกอากาศทางช่อง GBN
 

 
พฤติกรรมของคนที่ชอบแก้ตัวเป็นอย่างไร?
 
          พฤติกรรมหลักคือไม่กล้ายอมรับความจริงเพราะถ้ายอมรับความจริงแล้วจะทำให้รู้สึกอับอายเสียหน้า ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม เมื่อไม่กล้ายอมรับข้อผิดพลาดทำให้ไม่กล้ารับคำวิจารณ์จากคนอื่น เพราะคำวิจารณ์จากคนอื่น ทำให้รู้สึกสูญเสียคุณค่า สูญเสียความมั่นใจ ด้วยสาเหตุนี้เมื่อมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น หรือคนอื่นตำหนิ ก็จะทำให้สามารถคิดหาข้อแก้ตัวต่างได้อย่างรวดเร็ว เพื่อทำให้ตัวเองนั้นพ้นผิดไปในสถานการณ์นั้นๆ
 
การโยนความผิดกันเป็นอย่างไร?

 
          มี 2 อย่างคือ 1.การปัดความรับผิดชอบ โดยไปโทษอย่างอื่น เช่น ขอโทษครับที่มาสาย เพราะวันนี้รถติดมากเลย ซึ่งความจริงอาจจะตื่นสาย แต่ข้อแก้ขึ้นมาในสมองทันทีโดยไม่ต้องคิดอะไรเลยว่า รถติดจริงๆ แล้วคำว่ารถติดเป็นข้อแก้ตัวที่นิยมมากที่สุด
 
          2. พยายามหาแนวร่วมที่กระทำผิด เช่น ขับรถเกินความเร็วตามกฎหมายตำรวจเรียกจับ ก็บอกคันข้างหน้าก็ขับเร็ว คันโน้นคันนี้ขับเร็ว ทำไมมาจับฉันด้วย พยายามหาแนวร่วมว่าคนอื่นก็พยายามทำผิดเหมือนเรา หรือในที่ทำงาน การทำงานเป็นทีมบางทีเราอาจจะผิด แต่ก็โทษทั้งทีมว่าทำงานผิดด้วยกันทั้งทีม งานจึงออกมาไม่ดีพยายามหาแนวร่วมในการกระทำความผิดร่วมกัน
 

          ดร.มาแชล โกลด์สมิท ได้แบ่งการแก้ตัวออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. การแก้ตัวแบบดื้อๆ หรือแก้ตัวแบบน้ำขุ่นๆ เช่น บางทีเด็กทำของหายที่โรงเรียนก็บอกกับพ่อแม่ว่าเพื่อนเอาไป พยายามหาเหตุผลซึ่งบางทีไม่ใช่เหตุผล บางคนผิดนัดก็แก้ตัวว่าจดวันผิด แต่ความจริงคือลืม เป็นการพยายามหาข้อแก้ตัวที่จะเอาตัวรอดไปในสถานการณ์นั้นๆ
 
          2.ข้อแก้ตัวที่เราเรียกว่าฉันผิดเอง คือ พยายามจะแก้ตัวว่า ฉันก็เป็นของฉันอย่างนี้ จะเอาอะไรมากมาย พยายามสร้างความชอบธรรม ให้กับความผิดพลาดของตนเอง บางทีเราโมโหแล้วมีคนมาแหย่เรา เราก็บอกว่าก็รู้อยู่แล้วว่า เราเป็นคนโมโหง่าย แล้วจะมาอย่าแหย่ทำไมให้โมโห ไปโทษคนที่มาแหย่ ทั้งๆที่ตัวเองนะเป็นคนโมโหง่าย
 
จะหยุดนิสัยแก้ตัวต้องทำอย่างไร?
 

          1.ประเมินความจริง ประเมินตนเองว่า ชอบโยนความผิดให้กับคนอื่นมากน้อยแค่ไหน แล้วต้องกล้าที่จะยอมรับความจริง ซึ่งข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ โดยการปรับทัศนคติของตนเอง และยอมรับว่า ตนเองก็ผิดพลาดได้ แล้วพยายามแก้ไขตนเองโดยเมื่อรู้ข้อบกพร่องแล้วก็จะต้องรีบแก้ไขอย่างทันทีอย่าผัดวันประกันพรุ่ง เพราะว่าการผัดวันประกันพรุ่ง ทำให้ขี้เกียจและในที่สุดก็ไม่อยากที่แก้ไขตนเอง
 
          2.ยอมรับคำวิจารณ์ของผู้อื่น เนื่องจากเราอาจจะไม่เห็นทุกด้านของเรา คำวิจารณ์ของผู้อื่นจะสะท้อนตัวเราได้มากขึ้น และต้องทำใจยอมรับคำวิจารณ์ของผู้อื่นว่าเป็นอย่างนั้นตามคำวิจารณ์หรือไม่ เพราะบางคนวิจารณ์มากเกินไป จนทำให้สูญเสียความมั่นใจ ความเชื่อมั่นในตนเอง และอาจไม่เป็นตัวของตัวเองในที่สุด

 
          เทคนิคในการที่จะวิจารณ์ ต้องเริ่มด้วยคำชมก่อน และสิ่งที่จะต้องพัฒนา ไม่ใช่เป็นข้อตำหนิ ถ้าทำเพิ่มได้อีกจะดีเยี่ยม แล้วก็ต่อด้วยการให้กำลังใจ คนที่ถูกวิจารณ์จะได้ไม่ตั้งกาดปกป้องตนเอง หรือโยนความผิดให้คนอื่น
 
          3.ฝึกหัดแก้ไขตนเองในความผิดพลาดของเรา เช่น ถูกตำหนิจากนาย อาจบอกขอโทษครับที่ทำผิดไป ครั้งหน้าจะทำให้ดีกว่านี้แล้วก็ทำจริงๆ ครั้งหน้าก็เอาผลงานที่ดีกว่าไปให้นายได้ดูว่า แก้ไขมาแล้วมีความถูกต้องมากขึ้นกว่าเดิม
 

          4.รับผิดชอบต่อการกระทำของตนอย่างเต็มที่ พยายามหาวิธีแก้ปัญหาและพัฒนาวิธีแก้ปัญหาต่างๆโดยเรียนรู้จากความผิดพลาดในครั้งก่อนๆ เพราะการรับผิดชอบนอกจากจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆแล้วยังสามารถสร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเองและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตนเองด้วย
นิสัยต่างๆที่ไม่ดี บางครั้งก็ฝึกหัดมาตั้งแต่ยังเล็กๆ ใช้เวลาหลายปี กว่าจะเป็นคนนี้ได้ ดังนั้นการแก้ไขต้องใช้เวลาบ้างให้เวลาตัวเองบ้าง ใจเย็นๆกับตัวเองให้โอกาสในการแก้ไข 

ทันธรรม...โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ          
 

          ทุกคนในโลกคงต้องการความสำเร็จ แล้วทำอย่างไร จึงจะก้าวเข้าสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จนั้นได้ การไม่แก้ตัวแต่พร้อมรับคำแนะนำและปรับปรุงตัวเองคือกุญแจสำคัญไป สู่ความสำเร็จในชีวิตของทุกคน คนแก้ตัวมี 2 แบบ คือ 1.โยนความผิดให้คนอื่น คนอื่นเป็นคนทำเราไม่ได้ทำ พอไม่ผิดก็ไม่ต้องแก้ไขอะไร หรือผิดกันหมด ทุกคนก็ทำ ใครๆก็ทำกัน เพราะฉะนั้นในเมื่อใครๆก็ทำกัน แรงกดดันจะมาลงตัวเองน้อย ก็ไม่ต้องปรับปรุงอะไร 2.ยอมรับว่าผิด ก็ฉันก็เป็นฉันอย่างนี้ ต้องเข้าใจฉันนะ บางคนบอกว่าเป็นตัวของตัวเอง ก็เราเป็นอย่างนี้ก็คือเป็นอย่างนี้ไม่แก้ไข ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้คือการแก้ตัว แล้วทำให้ไม่เกิดกระบวนการในการปรับปรุงแก้ไข 
 

          การไม่แก้ตัว คือเมื่อมีสัญญาณจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็นการตักเตือน อาจพูดเพราะหรือไม่เพราะก็ตาม แต่รับได้ บางอย่างเป็นการเตือนทางอ้อมอย่างเช่น การปฏิเสธเข้ารับงาน เขาไม่เอาเราแสดงว่าเราต้องหาทางพัฒนาตนเองทางอื่น  ให้สำเร็จให้ได้ เปลี่ยนทุกคำเตือนในทุกรูปแบบให้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาตัวเอง 
 
          ผู้ที่ประสบความสำเร็จในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่เจอกับความล้มเหลวมามากมาย แต่เขาเปลี่ยนความล้มเหลวที่เป็นเสมือนหนึ่งคำเตือนในชีวิต ยิ่งเป็นความล้มเหลวใหญ่เท่าไหร่ ก็เป็นคำเตือนที่มีพลังมากเท่านั้น ในการพัฒนาตนเองให้สูงขึ้นไปอีก เท่ากับเป็นการยกตัวเองให้สูงขึ้นจนกระทั่งประสบความสำเร็จในที่สุด 

 
          ในทางพระพุทธศาสนา สังคมอินเดียในครั้งพุทธกาล ถือชั้นวรรณะมาก คนละวรรณะ แต่งงานกัน ลูกออกมาเป็นจัณฑาลใครมองเห็นต้องเอาน้ำล้างตา มานั่งเก้าอี้ต้องเอาน้ำนมล้าง แต่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ทุกวรรณะ บวชได้หมด กษัตริย์ก็ตามพราหมณ์ก็ตาม แพทย์ก็ตาม ศูทรก็ตาม จัณฑาลก็ตาม บวชได้หมดเลยเป็นพระภิกษุและเมื่อบวชแล้วต้องอยู่ในสถานภาพที่สูงส่งด้วย แม้พระราชาพบเห็นพระราชายังเคารพกราบไหว้ พระศาสดาคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังทรงพระชนม์อยู่และพระพุทธศาสนาเพิ่งเกิดไม่นาน ตั้งแต่เริ่มเกิด จนกระทั่งพระองค์ปรินิพพาน 45 ปีเท่านั้น ในการจะสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นที่ยอมรับของสังคมทั้งหลาย ว่าพระภิกษุอยู่ในสถานภาพที่สูงส่ง พระพุทธเจ้าว่า คนเราเกิดมาเสมอกัน แตกต่างกันที่ความประพฤติถ้าทำดีคือสูงถ้าทำบาปคือต่ำ 
 

          พระองค์เปิดกว้างให้คนทุกชนชั้นวรรณะมีโอกาสในการบวชหมด พระองค์ยังสามารถทำให้สถานภาพของพระภิกษุเป็นที่ยอมรับของพระราชา พระมหากษัตริย์ ของมหาเศรษฐี ของอำมาตย์ทั้งหลาย ทั้งแผ่นดิน โดยพระองค์เน้นฝึกพระภิกษุทั้งหลายตอนบวชใหม่ว่า เธออย่าเป็นคนแก้ตัว แต่ละคนมีข้อบกพร่องทั้งนั้นยังไม่หมดกิเลส เพราะฉะนั้นอย่าแก้ตัวตัวเอง แต่ต้องปรับปรุงตัวเองตลอดเวลา พระองค์ให้โอวาทไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะไม่ทำกับเธออย่างทะนุถนอมเหมือนช่างปั้นหม้อ ทำกับหม้อดินที่ยังดิบอยู่ เราจะกระหนาบแล้วกระหนาบอีกไม่มีหยุด เราจะชี้โทษแล้วชี้โทษอีก ไม่มีหยุดผู้ใดมีมรรคผลนิพพานเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจึงจะทนเราได้ นี้คือแนวทางในการฝึกพระภิกษุของพระพุทธเจ้า บางคราวพระพุทธเจ้าให้โอวาท พระที่ทำไม่ดีเอาไว้ เร่าร้อนในใจถึงขนาดกระอักเลือด หรือลาสิกขาไปก็มี ที่จะเหลืออยู่ต้องตั้งใจฝึกตัวเองจริงๆ 

 
          ธรรมเนียมหนึ่ง ที่พระองค์ให้สงฆ์ทั้งหลายทำในช่วงเข้าพรรษา คือการปวารณา พอออกพรรษาคณะสงฆ์จะประชุมกันในโบสถ์ พระที่อาวุโสพรรษาสูงสุดเริ่มกล่าวคำปวารณาว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลายก็คือพระภิกษุที่มีพรรษา น้อยกว่าตัวเองทั้งหมด ผู้ใดจะเห็นก็ตาม จะได้ยินก็ตาม หรือนึกสงสัย ถึงข้อบกพร่องข้าพเจ้าแล้ว โปรดแนะนำสั่งสอนข้าพเจ้าด้วย ด้วยความอนุเคราะห์ ด้วยความเอ็นดูแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอน้อมรับฟัง ค่อยๆ ไล่ทีละพรรษา ไล่ไปจนหมดทั้งวัดเลย นี้เป็นธรรมเนียมสงฆ์ ที่ถือปฏิบัติครั้งพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ปัจจุบันเป็นเชิงพิธีกรรมมากกว่า แต่จุดเริ่มต้นพระพุทธเจ้าต้องการให้เตือนกัน ให้ทุกคนเปิดใจรับ เราจะพบว่ายิ่งเป็นผู้ใหญ่ ยิ่งหาคนเตือนยาก พระพุทธเจ้าพระองค์เปิดเลย หมดทุกคนสามารถเตือนกันได้หมด ทั้งวัดตั้งแต่พรรษาสูงสุดจนถึงพรรษาน้อยสุด บวชใหม่ก็สามารถเตือนได้ เห็นข้อบกพร่องอะไรบอกได้เลย เหล่านี้คือการพัฒนาคณะสงฆ์ตามแนวทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

 
          พระพุทธเจ้าพระองค์ตรัสไว้ว่า บุคคลควรมองผู้ที่ชี้โทษตัวเองเป็นประดุจผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ เพราะเมื่อได้ฟังและปรับปรุงแก้ไข ตามคำแนะนำของบัณฑิตเช่นนั้นแล้ว ย่อมมีแต่เจริญขึ้นอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเลย ถ้าหวังความสำเร็จแล้ว อย่าเป็นคนที่ชอบแก้ตัว ให้เปิดใจกว้างรับฟังทุกคำแนะนำแล้วเปลี่ยนมาเป็นพลังในการพัฒนาปรับปรุงตัวเราเองให้สูงขึ้น ๆ จนประสบความสำเร็จในที่สุด


รับชมคลิปวิดีโอหยุดนิสัยชอบแก้ตัว : ทันโลกทันธรรม
ชมวิดีโอหยุดนิสัยชอบแก้ตัว : ทันโลกทันธรรม   Download ธรรมะหยุดนิสัยชอบแก้ตัว : ทันโลกทันธรรม



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
HPV โรคที่ต้องระวังHPV โรคที่ต้องระวัง

สุขฉบับคนไม่แคร์โลกสุขฉบับคนไม่แคร์โลก

ข่าวลือข่าวลือ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทันโลกทันธรรม