ปล่อยวางให้พ้นใจ


[ 25 พ.ค. 2562 ] - [ 18266 ] LINE it!

ปล่อยวางให้พ้นใจ
  การแบกที่หนักที่สุดคือการแบกจิตที่ไม่รู้จักปล่อยวาง การปล่อยวางถือเป็นคุณสมบัติของคนที่เข้มแข็ง และแข็งแกร่ง
 
เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
จากรายการทันโลกทันธรรม ออกอากาศทางช่อง GBN

อาการของคนที่วางไม่เป็นมีลักษณะอย่างไร?
 

          ลักษณะแรก เป็นเรื่องของการกลุ้มใจ ทุกข์ใจ เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต และเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ลักษณะที่สองเป็นเรื่องของความกังวลใจ กับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร
 
มีหลายคนเข้าใจผิดบอกว่าเกิดอะไรขึ้นก็ปล่อยวางอย่างเดียว ไม่สนใจอะไรไม่ทำอะไร อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิดไป อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่?
 

          ยังไม่ใช่การปล่อยวางที่ถูกต้อง ปล่อยวางจะเน้นไปที่เรื่องของใจ เมื่อเกิดเรื่องที่ไม่ดีขึ้นมาแล้ว เรื่องที่เป็นทุกข์ เรื่องที่ก่อให้เกิดความกังวล จะต้องพยายามละออกไปจากใจของเราให้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาในชีวิตแล้ว พยายามจะปล่อยปัญหานั้นไป โดยไม่ไปแก้ปัญหานั้น การปล่อยวางที่ถูกต้องคือ พยายามหาวิธีแก้ปัญหาให้ดีที่สุด เมื่อแก้ปัญหาแล้ว ก็ไม่ไปกังวลกับผลที่จะเกิดขึ้น แล้วไม่ไปกังวลกับตัวปัญหานั้นมากเกินไป ปล่อยวางในแง่ของความคิด แต่ในแง่ของการกระทำก็ต้องสู้กับปัญหานั้นเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ ปล่อยวางไม่ใช่ปล่อยปละละเลย
 
จะทำอย่างไรถึงจะปล่อยวางแบบไม่ปล่อยปละละเลย?
 

          ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตว่ามีความไม่แน่นอน หลายสิ่งหลายอย่างไม่สามารถควบคุมได้ เช่น เป็นเจ้าของสวนผลไม้ก็พยายามอย่างเต็มที่ในการที่ใส่ปุ๋ย พรวนดิน บำรุงต้นไม้ ปีนี้ฝนตกเยอะทำให้สวนผลไม้น้ำท่วม สิ่งนี้เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ก็ต้องพยายามทำใจ คือบอกว่าไม่เป็นไรช่างมัน เพราะพยายามเต็มที่และคุมปัจจัยนี้ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาน้ำท่วม ส่วนใหญ่เป็นปัญหาซ้ำซาก ก็ควรจะเรียนรู้ว่าทำไมยังมีปัญหาอยู่ ควรจะมีการถมคันดิน เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในปีต่อไป เพราะฉะนั้นการปล่อยวางที่ถูกต้อง คือเรียนรู้ว่ามีความไม่แน่นอนอยู่แต่ไม่ได้ปล่อยปละว่าสามารถแก้ปัญหาได้ในอนาคต
 
นอกจากทำใจว่าทุกสิ่งไม่แน่นอนแล้วต้องทำใจว่าอย่างไรอีกบ้าง?
 

          พยายามอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด เพราะอดีตเป็นสิ่งที่กลับไปแก้ไขไม่ได้ บางคนมีปมอยู่ในอดีต อย่าไปกังวลมากเกินไป หากมัวแต่กังวลกับอดีตก็เกิดความทุกข์ใจ สิ่งที่ควรทำคือเรียนรู้จากมันว่ามันเกิดปัญหาอะไรขึ้นในอดีต แล้วจะนำสิ่งที่เกิดขึ้นไปแก้ไขปัญหาที่มันอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต จะทำให้ก้าวไปสู่สิ่งที่ดีมากขึ้นกว่าเดิมได้ นอกจากนั้นก็ไม่ไปคำนึงถึงอนาคตมากเกินไป ทำดีที่สุดแล้วในวันนี้ หวังผลได้แต่ก็ยอมรับได้ถ้าผลไม่เป็นไปตามหวัง ข้อสรุปคืออยู่กับปัจจุบันมากที่สุดโดยไม่กังวลกับอดีตกับอนาคตมากเกินไป
 
เทคนิคการมองว่าทุกอย่างไม่เที่ยงและการอยู่กับปัจจุบันมีอะไรบ้าง?
 
 
          บางคนเจอประสบการณ์ที่เลวร้าย และกะทันหันก็อาจจะมีสิ่งเข้ามากวนใจตลอด ไม่สามารถก้าวข้ามความคิดนั้นได้ มีข้อแนะนำ คือให้พยายามหยุดคิดในสิ่งนั้น ดังที่ไอน์สไตล์ได้กล่าวไว้ว่า “ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เมื่อหมกมุ่นอยู่กับความคิดและความรู้สึกด้านลบ” ควรกำจัดความคิดทั้งหมดออกไปจากใจแล้วทำใจให้นิ่งสงบโดยการนั่งสมาธิ ดังคำกล่าวที่ว่า “เมื่อจิตสงบก็จะพบทางออก”
 
เมื่อคิดเยอะๆ นั่งสมาธิไม่ได้ การสวดมนต์พอช่วยได้หรือไม่? 
 

          การสวดมนต์เปรียบเสมือนเป็นยาทา ช่วยระงับความคิดได้ระดับหนึ่ง การนั่งสมาธิเปรียบเสมือนยากินซึ่งรักษาได้โดยตรง 
 
หากสวดมนต์ก็แล้ว นั่งสมาธิก็แล้ว ยังหยุดคิดไม่ได้ควรทำอย่างไร? 


          ต้องยอมรับว่าบางเรื่องหยุดคิดไม่ได้จริงเพราะบางทีเป็น ความเสียใจ รู้สึกว่ากังวลมากๆแล้วรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง หากหยุดคิดไม่ได้ก็ให้คิดเรื่องดีๆ  คิดถึงประสบการณ์ดีๆ หรือสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต และพยายามคิดถึงสิ่งดีๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ว่าสิ่งดีๆ คงเข้ามาในชีวิต
 
          หากคิดถึงสิ่งดีๆ ไม่ออกก็ให้เขียนสิ่งที่กังวลใจหรือสิ่งที่เสียใจออกมา การเขียนเป็นการระบายความรู้สึกออกมาระดับหนึ่ง เขียนเป็นข้อๆแล้วพยายามจะจัดระบบจะทำให้มีความคิดเป็นระบบมากขึ้น เมื่อคิดเป็นระบบ จะมีความรู้สึกว่าได้คิดทุกอย่างผ่านไปหมดแล้วสมบูรณ์แล้ว มันจะรู้สึกโล่งอกมาระดับหนึ่ง เป็นวิธีช่วยให้ก้าวข้ามความคิดที่วนไปวนมา
 

          การทำใจให้รู้จักพอ บางครั้งบางคนทุกข์ เพราะสิ่งที่ได้มาไม่เพียงพอกับสิ่งที่ต้องการ เช่น ซื้อหุ้นไว้ราคาหนึ่ง เมื่อราคาดีขึ้นจึงนึกเสียใจว่า น่าจะซื้อเยอะกว่านี้ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ความทุกข์ แต่หลายคนก็ทุกข์เพราะไม่รู้จักพอ ให้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงอย่าไปหวังอะไรมากนัก
 
          การรู้จักถอย บางครั้งทำเต็มที่แล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็เกิดความกังวลใจ เกิดความทุกข์ใจปล่อยวางไม่ได้ ข้อแนะนำคือให้ถอยกลับมา แต่ไม่ได้แปลว่ายอมแพ้ ไม่ได้แปลว่าหยุดทำ ให้ถอยกลับมาแล้วพยายามดูว่า สิ่งที่ทำไปมีอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไข มีข้อผิดพลาดอะไร แล้วกลับเข้าไปเผชิญกับปัญหานั้นใหม่ แต่หากทำหลายครั้งแล้วไม่ประสบความสำเร็จสิ่งนั้นก็อาจจะไม่ใช่สำหรับเราก็ได้

 
          บางครั้งพยายามปล่อยวาง แต่ก็ยังปล่อยไม่ได้สักที แล้วทำให้หงุดหงิดว่า ทำไมปล่อยไม่ได้ ก็ให้พยายามเตือนตัวเองว่า ให้ค่อยๆ ก้าวไปอย่างช้าๆ แต่มั่นคง ความหมาย คือ ค่อยๆ ปล่อยวางไป แล้วดูว่าสัปดาห์นี้กับสัปดาห์ที่ผ่านมาเราทำใจได้มากน้อยแค่ไหน อย่าไปเร่งตัวเองว่า จะต้องปล่อยความทุกข์ให้หมด ปล่อยความกังวลให้หมด บางทีทำไม่ได้ภายในระยะเวลาอันสั้นก็ต้องค่อยๆ ปล่อยไปทีละเรื่องแล้วก็สำรวจตัวเองว่ามีความก้าวหน้า สามารถปล่อยวางได้มากน้อยแค่ไหนเมื่อเวลาผ่านไป
 
ร่างกายมีผลต่อการปล่อยวาง หรือไม่?
 
          มีผลมาก การดูแลร่างกายให้แข็งแรงเสมอ จะทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตดีขึ้น หากอดนอนมาจะความคิดจะไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น รู้สึกหดหู่รู้สึกเพลีย คิดอะไรไม่ค่อยออก เพราะฉะนั้นเวลาเผชิญปัญหาควรจะพักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนั้นการออกกำลังกายก็จะช่วยให้สดชื่นขึ้น ความคิดก็จะแจ่มใสมากขึ้น
 
ทันธรรม...โดย พระครูปลัดสุวัฒน์โพธิคุณ


 
          การปล่อยวางได้ดี ทำให้ไม่เป็นทุกข์มีความสุข แล้วทำอย่างไรจะปล่อยวางได้ มี 3 ข้อ ดังนี้
 
          1.การปล่อยวางได้หรือไม่ อยู่ที่ความคิด เรื่องความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะความคิดของเราไปปรุงแต่ง จากเรื่องเล็กๆแค่ 1 ขยายเป็น 10 ขยายเป็น 100 เพราะความคิดปรุงแต่ง แต่คนที่คิดเป็นเรื่องที่หนักเท่ากับ 10 เขาทำให้กลายเป็น 1 ได้ คือ ไม่ถึงกับหมดไป แต่จะเบาไปเยอะเมื่อคิดเป็น ให้เฝ้าสังเกตความคิดปรุงแต่งให้ดี หากมีอะไรเกิดขึ้น และเริ่มมีความคิดปรุงแต่งในทางร้ายให้หยุดและตั้งสติเปลี่ยนมุมคิดใหม่ คิดทางดีแทน เพราะหลายเรื่องที่คิดทางไม่ดี จริงๆแล้วคิดไปเอง เพราะฉะนั้นเรื่องที่กลุ้มร้อยละ 90 คิดไปเองหรือเรื่องมีนิดเดียว คิดขยายเสียใหญ่โต จนหนักอกหนักใจ จากนี้ไปเมื่อไหร่จะเริ่มคิดไม่ดีแล้วล่ะก็พลิกมุมคิดเลย ตามสติตัวเองให้ทัน แล้วก็เปลี่ยนทิศทางดีแทน ทางไม่ดีหยุดไปเฉยๆ อย่าไปคิดมันจบ ไม่ต้องไปแก้อะไรมาก ก็แค่ว่าหยุดคิดเท่านั้นเอง อะไรที่ไม่ดีเราก็หยุดคิด จะคิด คิดไปทางดีแทน 

 
          2.ปล่อยวางไม่ค่อยได้ แล้วเกิดเรื่องกลุ้ม เรื่องหงุดหงิดเป็นเพราะมีอัตตา คือนึกว่าข้าแน่ อะไรที่รู้สึกว่ากระทบอัตตาตัวเองเมื่อไหร่ เป็นเรื่องบังอาจอย่าล้ำเส้น ศัพท์ทางพระเรียกว่ามีสักกายทิฏฐิความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวตน เมื่อแต่ละคนมีพื้นฐานต่างกัน จะให้เขาได้อย่างใจเราไม่ได้ เมื่อยอมอ่อนตัวเองลง ไม่มีอีโก้ไม่มีอัตตา ก็สามารถทำได้สำเร็จ เอาอัตตาเอาอีโก้ตัวนี้ออกได้ ใจจะโปร่งเบาสบายทีเดียว 

 
          3. มักยึดติดอยู่กับความคุ้นเคย อะไรที่ลงตัวอยู่แล้ว เช่น วิถีชีวิต บ้านพักอาศัย งานการ สิ่งแวดล้อม เพื่อนฝูง เป็นต้น จะรู้สึกไม่อยากจะออกจากคอมฟอร์ทโซน เพราะลงตัวอยู่แล้ว ทั้งที่ก็ไม่ค่อยสบายมากนัก มีปัญหาก็รู้สึกว่าพออยู่ได้ ถ้าเกิดจะให้เปลี่ยน ที่ใหม่ไม่ยอมเปลี่ยน แต่หากยอมออกจากคอมฟอร์ทโซน เป็นคนกล้ารับการเปลี่ยนแปลงกล้าผจญภัยกับสิ่งใหม่ๆ จะเจอว่าได้เรียนรู้โลกกว้าง ชีวิตท้าทาย จะมีการตื่นตัวพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ความยึดมั่นถือมั่นในหลายๆ สิ่งหลายๆอย่างจะคลายตัวลง จะพบว่าการปล่อยวางตัวมันเบาดี แล้วทำให้ยืดหยุ่นพร้อมจะรับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไปได้อย่างดีเยี่ยม


รับชมคลิปวิดีโอปล่อยวางให้พ้นใจ : ทันโลกทันธรรม
ชมวิดีโอปล่อยวางให้พ้นใจ : ทันโลกทันธรรม   Download ธรรมะปล่อยวางให้พ้นใจ : ทันโลกทันธรรม







Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ลงทุนกับประสบการณ์ลงทุนกับประสบการณ์

สัมภาษณ์ให้ได้งานสัมภาษณ์ให้ได้งาน

เลิกนิสัยขี้เกรงใจผู้อื่นเลิกนิสัยขี้เกรงใจผู้อื่น



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทันโลกทันธรรม