ของขวัญวันพ่อจากสามเณรวัดบ้านขุน


[ 5 ธ.ค. 2550 ] - [ 18257 ] LINE it!

ของขวัญวันพ่อจากสามเณรวัดบ้านขุน
 
    ย้อนไปเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2536 วันประวัติศาสตร์ของการสร้างบารมีของ พระอาจารย์วิชาญ อิทธินาโค หรือ พระครูสังวรสิทธิโชติ เจ้าอาวาสวัดบ้านขุน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ท่านได้รับภารกิจจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อคุณครูไม่ใหญ่ ที่มอบหมายให้ไปทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา ฟื้นฟูศีลธรรมบนยอดดอย อำเภอฮอด ด้วยวัฒนธรรมชาวพุทธ
 
    จากจุดเริ่มต้นของการพัฒนาวัดบ้านขุน และพัฒนาหมู่บ้านรอบวัด เทศน์สอนญาติโยมให้มีความเข้าใจ ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เดี๋ยวนี้ในทุกวันพระ ช่วงเวลา 1ทุ่ม ถึง 3ทุ่ม จะมีชาวบ้านมาสวดมนต์นั่งสมาธิ ประมาณ 200คน จนล้นศาลา และจะมีผู้เฒ่าผู้แก่ มานอนวัด ถือศีลแปด ในวันพระ จากที่ชาวบ้านไม่ค่อยได้ตักบาตร ปัจจุบันในทุกๆเช้าของทุกๆวัน ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้า มาตั้งโรงทานเล็กๆหน้าบ้าน เพื่อรอใส่บาตรสามเณรวัดบ้านขุน ซึ่งจะเดินสายบิณฑบาตทั้งหมู่บ้าน และหมู่บ้าน “บ้านขุน” แห่งนี้ ได้พัฒนากลายเป็นชุมชนสีขาว ตัวอย่างที่ปลอดจากอบายมุข
 
    จากจุดเริ่มต้น ที่วัดบ้านขุน เป็นวัดที่ไม่มีเจ้าอาวาส มีสามเณรอยู่เพียง 4รูป ปัจจุบันวัดบ้านขุน มีพระภิกษุ จำนวน 5รูป และมีสามเณรประจำ จำนวน 209รูป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสามเณรชาวเขา ที่มาจากหลายๆเผ่า บนยอดดอย พระครูสังวรณ์สิทธิโชติ ท่านเล่าให้ฟังว่า...
 
 
    “ตอนมาอยู่เป็นเจ้าอาวาสใหม่ๆ ตอนนั้นไม่มีพระเลย มีแต่เณร 4รูป ไม่มีเจ้าอาวาส ชาวบ้านแถวๆนี้ พวกเขาก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องบุญ เรื่องบาป ยังไม่มีความรู้เรื่องทาน ศีล ภาวนา พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ท่านก็สอนให้หลวงพี่ขึ้นทุกบ้านให้ครบทุกหลังคาเรือน ไปโปรดญาติโยม ชวนให้เขาถือศีล นั่งสมาธิ ให้เลิกอบายมุข สิ่งที่ไม่ดีเลิกให้หมด แล้วก็เริ่มสร้างวัด ด้วยการสร้างคน โดยดูแบบอย่างจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า ท่านสร้างวัดพระธรรมกายอย่างไร...
 
    เรียกว่า พอมาเป็นเจ้าอาวาส ก็นำสิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อทั้งสองรูป และคุณยายอาจารย์สอน มาเป็นหลักในการสร้างวัดทั้งหมด เริ่มต้นด้วยการจัดบรรพชาสามเณรก่อน ซึ่งเป็นดำริจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ท่านให้จัดบรรพชาสามเณร-อุปสมบท นักบุญขุนเขา ไปชวนลูกหลานชาวเขามาบวชเป็นสามเณร จะได้ช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนา บนยอดดอย แสงสว่างแห่งธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้มาส่องสว่าง ณ ที่ดินแดนแห่งนี้...
 
    เวลาที่ต้องไปชวนเด็กมาบวช ก็ต้องไปตามโรงเรียน ตามหมู่บ้าน ซึ่งต้องเข้าไปในป่า ทุกดอยไปมาหมด ที่นี่ยังห่างไกลความเจริญมาก ไม่มีไฟฟ้า บางแห่งรถยังเข้าไปไม่ถึงเลย ไม่มีถนนยังเป็นทางคนเดิน และยังไม่มีวัดวาอาราม แต่ที่นี่ยังมีคนที่มีจิตใจบริสุทธิ์ ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา ที่เขาพูดภาษาไทยไม่ได้ บางแห่งพอเขาเห็นหลวงพี่นะ เขาวิ่งหนีเลย เพราะเขาตกใจ เกิดมาไม่เคยเห็นพระ การที่ได้ไปเยี่ยม ไปเชิญชวนเด็กมาบวชเป็นสามเณร ทำให้เราเข้าใจชีวิตชาวเขาว่า เขาอยู่กันอย่างไร และอยากให้เขาได้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
 
    หลังจากที่มีสามเณร มาบวชเป็นสามเณรประจำ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี เมื่อบวชแล้ว หลวงพี่ก็สอนสามเณรทุกอย่าง เกิดมาก็ไม่เคยมีลูก แต่พอต้องมาสอนสามเณร ก็นึกถึงคำที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระอาจารย์ โยมพ่อ โยมแม่ ท่านเคยสอนเรามาอย่างไร เราก็สอนลูกเณรอย่างนั้น จะนึกถึงคำของพระเดชพระคุณหลวงพ่อที่ท่านบอกว่า “เราต้องทำปากของเราให้เป็นเหมือนดินริมตลิ่ง” คือ ต้องปากเปียก ปากแฉะ จ้ำจี้ จ้ำไช ต้องบ่นอย่างมีศิลปะ บ่นอย่าให้เขาเบื่อ และให้เขามีส่วนร่วมกับเรื่องที่เราบ่น สอนเขาทุกเรื่อง...
 
    สำหรับเรื่องที่ยาก และเป็นอุปสรรคของการอบรมสามเณร คือ เรื่องของภาษา เพราะที่นี่เป็นเหมือนโรงเรียนนานาชาติ ที่สามเณรมาจากหลายเชื้อชาติ มาจากชาวเขาหลายเผ่าพันธุ์ มีหลายเผ่า ทั้งกระเหรี่ยง ปากะยอ ม้ง ลั๊วะ มีหมด ลูกเณรจะพูดกันคนละภาษา จนหลวงพี่ต้องออกกติกา ให้พูดภาษาเดียวกัน คือ ภาษาไทย จะได้พูดกันรู้เรื่อง พอบวชแล้ว ก็ต้องเรียนหนังสือ ต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ต้องนั่งสมาธิ ฝึกตัวเองทุกรูปแบบ ทั้งรับบุญและฝึกเทศน์โปรดญาติโยมด้วย เราต้องฝึกกันตั้งแต่ยังเป็นสามเณรนี่แหละ...
 
    ผลจากการบวชสามเณร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในครอบครัวของเขา เมื่อสามเณรได้กลับไปเยี่ยมบ้าน แต่ละรูปจะไปสอนธรรมะ บอกเล่าสิ่งดีๆที่ได้รับจากการบวชให้โยมพ่อ โยมแม่ ให้รู้จักเรื่องบุญ เรื่องบาป ชวนให้โยมพ่อโยมแม่รักษาศีลและเลิกอบายมุข  แต่ก็ยังทำได้แค่ระดับหนึ่ง เพราะที่บ้านของสามเณรไม่มีวัด พวกเขาเกิดมาไม่เคยเจอพระ พอลูกชายมาบวช จึงเริ่มมีโอกาสสร้างบุญ....
 
 
    พอกลับมาจากบ้าน สามเณรก็จะมาประชุมกันว่า กลับไปบ้านรอบนี้ได้อะไรกันบ้าง แต่ละรูปกลับมา ก็จะมีผลหมาก รากไม้ มาถวายพระอาจารย์ แต่สิ่งที่สามเณรอยากทำมากที่สุด คือ การได้ตอบแทนพระคุณ โยมพ่อโยมแม่ ที่ทำให้สามเณรได้เกิดมาสร้างบารมี ได้มาบวชเป็นสามเณร สามเณรจึงเริ่มปรึกษากับพระอาจารย์ว่า อยากจะตอบแทนพระคุณโยมพ่อ โยมแม่ ด้วยการชวนโยมพ่อมาบวช เพราะตัวลูกเณรบวชแล้ว โยมพ่อได้บุญแล้ว แต่โยมพ่อ จะได้บุญมากขึ้น ถ้าท่านได้มาบวชเป็นพระพ่อ ให้สามเณรได้ดูแลท่าน”
 
 
    และนั่นคือ จุดเริ่มต้นของความเป็นมาของ การบรรพชา อุปสมบท นักบุญขุนเขา โยมพ่อของสามเณรวัดบ้านขุน จำนวน 86รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งจัดขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา ณ พระอุโบสถวัดบ้านขุน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
 
    เมื่อพิธีการเวียนประทักษิณเริ่มขึ้น เป็นภาพของความสงบ เสงี่ยม สง่างาม ของพี่น้องผองไทย ที่ยังยึดมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนา แม้ว่าจะอยู่บนยอดดอยสูง แต่ก็มีผู้มาร่วมงานในครั้งนี้เป็นจำนวนกว่า 500คน วินาทีนี้ความปลื้มปีติได้เปี่ยมล้น อยู่ในดวงใจของโยมพ่อ ที่ตอนนี้กำลังจะเปลี่ยนเพศภาวะเป็นพระพ่อให้ลูกเณรได้กราบไหว้
 
 
    สามเณรทุกรูปต่างก็ปลื้มปีติดีใจ ที่ได้ทำหน้าที่เป็นสามเณรพี่เลี้ยงคอยอุปัฏฐากดูแลพระพ่อ จากในวัยเด็กที่พ่อต้องคอยแต่งตัวใส่เสื้อผ้าให้ลูก คราวนี้ทุกเช้า สามเณรต้องคอยแนะนำพระพ่อ ให้รู้จักการนุ่งห่ม จีวร และรู้จักการใช้ชีวิตในเพศสมณะ ของขวัญวันพ่อที่สามเณรได้มอบให้พระพ่อในปีนี้ จึงเป็นของขวัญที่มีค่ามากที่สุด ในชีวิตลูกที่ได้ตอบแทนพระคุณพ่อ
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
เบื้องหลังความสุขและความสำเร็จทั้งปวงเบื้องหลังความสุขและความสำเร็จทั้งปวง

สันติภาพนั้นสัมผัสได้สันติภาพนั้นสัมผัสได้

สุดยอดแห่งกลยุทธ์การแก้ปัญหาสุดยอดแห่งกลยุทธ์การแก้ปัญหา



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ