วิพากษ์ "เทคโนโลยีอุบัติใหม่" เพื่อความก้าวหน้าหรือทำลายสังคม


[ 14 ก.ย. 2549 ] - [ 18260 ] LINE it!

  วิพากษ์ “เทคโนโลยีอุบัติใหม่” ต่อสังคม ดร.ยงยุทธชี้อนาคตความรู้ต่างจะร่วมเป็นสหวิทยาการมากขึ้น ไอทีจะมากแรง แต่นาโนเทคยังไม่ชัด เหมือนผลไม้ที่ยังไม่สุก ด้าน ดร.สุริชัย แจงจะถกเทคโนโลยีต้องให้สังคมมีส่วนร่วม ส่วน ดร.ปรีชาให้ความเห็นหากรักวิชาการมากกว่ารักมนุษย์ก็กลายเป็น “ตัณหาวิชาการ” ขณะที่ ดร.วุฒิพงศ์เสริมปัญหาในสังคมเกิดจากไม่วิจัยเทคโนโลยีแต่เสพเทคโนโลยี
       
       “เทคโนโลยีอุบัติใหม่” (Emerging Technology) คือศัพท์ที่ใช้เรียกเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่าง เช่น นาโนเทคโนโลยี พันธุวิศวกรรม ซึ่งเราอาจจะไม่คุ้นเคยกับศัพท์นี้ แต่เชื่อว่าหลายคนมีโอกาสได้สัมผัส ยกตัวอย่างง่ายๆ คือสิ่งที่ใกล้ชิดเรามากที่สุดอย่าง “โทรศัพท์มือถือ” ที่เพียงไม่กี่ปีอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ จะกลายเป็นมากกว่าเครื่องมือที่ใช้ในการพูดคุย หากแต่ยังใช้เพื่อความบันเทิงในสารพัดรูปแบบ ทั้งดูหนัง-ฟังเพลง รวมทั้งเชื่อมต่อกับโลกภายนอกที่ครบวงจร
       
       แต่ความก้าวหน้าก็นำมาซึ่งปัญหาของสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กติดเกม การดูเว็บไซต์อนาจาร เป็นต้น ขณะที่เราเห็นเทคโนโลยีก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง เราก็ได้เห็นปัญหาของสังคมที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงได้มีการอภิปรายในหัวข้อ “เทคโนโลยีอุบัติใหม่กับสังคมไทย” ภายใน “การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2549” (Thailand Research Expo 2006) ของสำนักงานคณะการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-13 ก.ย.นี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคมร่วมให้ความเห็น
       
       ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช และที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ฉายภาพความการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งเห็นได้ชัดในกรณีของคอมพิวเตอร์ที่เดิมมีราคาแพงมาก แต่ปัจจุบันมีราคาถูกลงและประสิทธิภาพสูงขึ้น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่เมื่อก่อนอยู่แค่ในห้องปฏิบัติการ แต่ปัจจุบันก็พบได้ตามร้านขายต้นไม้ทั่วไป หรืออินเทอร์เน็ตซึ่งเพิ่งเข้าเมืองไทยได้แค่ 10 ปีก็กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
       
       สำหรับแนวโน้มของเทคโนโลยีอุบัติใหม่ตามความเห็นของ ศ.ดร.ยงยุทธนั้น ความรู้ในสาขาต่างๆ จะเข้ามารวมกันกลายเป็นสหวิทยาการมากขึ้น และจะไม่ใช่การทำงานของสาขาใดสาขาหนึ่งอย่างโดดๆ ขณะเดียวก็มีความแปลกตรงที่เกิดการแตกแขนงของสาขาใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น สาขาทางด้านพันธุศาสตร์ (Genomics) ก็มีทั้งที่ศึกษาทางยา (Pharmacogenomics) และการสังเคราะห์โปรตีน (Proteomics) เป็นต้น แต่ความก้าวหน้าเหล่านี้ก็ทำให้เกิดความขัดแย้ง คือ มีทั้งคนที่เข้าถึงและคนที่เข้าไม่ถึง โดยมีคนจำนวนหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ขณะที่คนจำนวนหนึ่งก็ถูกกันออกไปอย่างสิ้นเชิง
       
       พร้อมกันนี้ ศ.ดร.ยงยุทธได้ยก 10 เทคโนโลยีอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น 1.การแพทย์นาโน(nanomedecine) ซึ่งใช้วัสดุนาโนในการแพทย์เพื่อส่งตัวยาเข้าร่างกาย 2.การศึกษาแรงที่น้อยมากอย่างกลศาสตร์ในระดับเซลล์หรือโมเลกุล (nanobiomechanics) 3.การศึกษาความเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอเพื่อตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มต้น (Epigenetics) 4.การทำแผนที่ความสัมพันธ์ของโมเลกุลในร่างกายซึ่งไปสู่การพัฒนายาตัวใหม่ (Comparative Interactomics)
5.การตรวจสุขภาพโดยใช้สัญญาณแม่เหล็กในร่างกาย (Diffusion Tensor Imaging)       
      6.การใช้คลื่นวิทยุบางส่วนที่ไม่ได้ใช้กับเทคโนโลยีไร้สาย (Cognitive Radio) 7.การใช้สัญญาณวิทยุกำหนดข้อมูลของสินค้าอย่าง “อาร์เอฟไอดี” ซึ่งมีให้เห็นมากขึ้น (Pervasive Wireless)
8.การปกป้องความเป็นส่วนตัวในระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเมืองไทยอาจยังเห็นได้ไม่ชัด แต่อนาคตจะเห็นได้มากขึ้น (Universal Authentication) 9.การผลิตเซลล์โคลนนิ่งซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนกับเซลล์ต้นกำเนิด
แต่ไม่ได้นำมาจากเซลล์ต้นกำเนิดโดยตรง (Nuclear Reprogramming) และ 10.การผลิตซิลิกอนยืดได้ เพื่อพัฒนาคอมพิวเตอร์ที่มีความบางและยืดหยุ่น หรือผลิตวัสดุพิเศษอย่างถุงมือศัลยแพทย์เพื่อช่วยในการผ่าตัด (Stretchable Silicon)       
       เมื่อจัดกลุ่มให้กับเทคโนโลยีอุบัติใหม่จะแบ่งได้เป็น 3 สาขาที่สำคัญ 1.กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอที) 2.เทคโนโลยีชีวภาพ(ไบโอเทค) และ3.นาโนเทคโนโลยี โดย ศ.ดร.ยงยุทธได้สรุปจากที่มีการศึกษาว่าไอทีจะเป็นเทคโนโลยีที่มาแรง และไบโอเทคก็จะมีความสำคัญมาก แต่นาโนเทคโนโลยีนั้นยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่มาแรง เป็นเหมือนผลไม้ที่ยังไม่สุก ทั้งนี้ประเทศไทยควรพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อตอบปัญหาของสังคม ไม่ใช่ตามอย่างประเทศพัฒนาแล้ว
       
       อย่างไรก็ดีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีย่อมมีผลกระทบต่อคนในสังคม รศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยาจึงตั้งคำถามว่าอนาคตที่ก้าวหน้าของเทคโนโลยีนั้น
จะไปด้วยกันได้หรือไม่กับอนาคตของสังคม พร้อมทั้งกล่าวว่าทั่วโลกมีการทุ่มเงินวิจัยไปกับการพัฒนายาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
มากกว่ายารักษาโรคร้าย     ทั้งนี้เพราะเราต้องการวิจัยเพื่อทำเงิน ดังนั้นเทคโนโลยีอุบัติใหม่ก็จะไปได้ด้วยตัวเองเพราะมีคนที่อยากจะทำการค้า แต่ทำอย่างไรจะให้เทคโนโลยีเหล่านั้นมีคุณค่ากับทุกชีวิตบนโลก       
       “บางครั้งชุมชนคือผู้ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีอุบัติใหม่ ซึ่งมีความรู้เป็นเชิงลึก ยากที่คนซึ่งได้รับผลกระทบจะเข้าใจได้ทันที” รศ.ดร.สุริชัยกล่าวว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการถกกันทั้งในภาคของนักวิทยาศาสตร์และสังคม ไม่ใช่ผลักภาระให้สังคมได้รับผลกระทบโดยไม่มีส่วนร่วม การพัฒนาเทคโนโลยีอุบัติใหม่นั้นมีทั้งมิติของวิทยาศาสตร์และมิติทางสังคม จึงควรมีเวทีเพื่อทำความเข้าใจกัน เพื่อให้สังคมมีความสมดุลและไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
       
       “ที่เสียหายคือ   เราพูดถึงเทคโนโลยีกับสังคมกันคนละที เทคโนโลยีถ้าขาดจากศีลธรรมก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้น แต่ระหว่างทางเราก็ลืมที่จะพูดถึงจริยธรรม เอ่ยถึงศีลธรรมก็ยกให้พระสวด วิทยาศาสตร์ก็ดอดมาหลังบ้าน กลายเป็นเครื่องมือของทุนนิยม เราต้องบูรณาการทั้งทางสังคมและวิทยาศาสตร์ ก็มีความห่วงใยด้วยกันทุกคนแต่ก็พูดกันคนละที คิดคนละที นั่นแหละคือปัญหา” รศ.ดร.สุริชัย
       
       ขณะที่ ศ.ปรีชา ช้างขวัญยืน ประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาปรัชญา กล่าวว่า การจะพัฒนาเทคโนโลยีให้ครบถ้วนเหมาะสมนั้นต้องคำนึงถึงคุณภาพ 3 ด้านคือ 1.ประสิทธิภาพเพื่อใช้ประโยชน์ 2.สุนทรียภาพเพื่อความจรรโลงใจ และ 3.คุณภาพด้านจริยะคือความดีงาม
ทั้งนี้เทคโนโลยีมักเกิดจากความรักวิชาการ แต่ก็ต้องมีความรักมนุษย์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ไม่อย่างนั้นอาจกลายเป็น “ตัณหาทางวิชาการ” ที่เอาความรู้เป็นใหญ่เหนือการคำนึงถึงภัยต่อมนุษย์
       
       “เทคโนโลยีอุบัติใหม่ถ้าพัฒนาประเทศได้จึงจะดี แต่ถ้ามุ่งพัฒนาเทคโนโลยีแบบช้างขี้ขี้ตามช้าง ก็เป็นแต่ความว่างเปล่า หาประโยชน์มิได้ เพราะไม่มีคุณแก่ผู้คนพลเมือง เป็นแต่ตัณหาของนักวิชาการ เทคโนโลยีอุบัติใหม่ถ้าใช้ในทางดีก็เป็นเทคโนโลยีวิวัฒน์ใหม่ เป็นเทคโนโลยีแบบโลกาวิวัฒน์ เทคโนโลยีอุบัติใหม่ถ้าใช้ไปในทางชั่ว ก็เป็นเทคโนโลยีอุบาทว์ใหม่ เป็นเทคโนโลยีแบบโลกาวินาศ” ศ.ปรีชากล่าว พร้อมทั้งให้ความเห็นว่าบางครั้งเราก็มองออกไปและตื่นเต้นกับโลกภายนอกจนลืมมองตัวเอง จึงอยากให้กลับมาสัมผัสแรงบันดาลใจจากภายในด้วย
       
       อย่างไรก็ดี นาวาตรี ดร.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ กล่าวว่า ทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในส่วนของเทคโนโลยีกับสังคมไทยนั้น ก็ทำให้คนจากหลายประเทศ เชื้อชาติมารวมกันได้ แต่ก็ทำให้วัฒนธรรมถูกกลืนได้ง่าย เห็นได้จากเราให้นางงามชาวรัสเซียมาสอนไหว้ การติดต่อสื่อสารสะดวกรวดเร็วขึ้น แต่ก็ทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์เสื่อมถอย หรือเรามีดาวเทียมเพื่อเฝ้าดูป่าไม้ เราก็เห็นว่าป่าลดแต่แก้ไขไม่ได้ ได้แค่ดูแต่ป้องกันไม่ได้ เป็นต้น
       
       ส่วนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดร.วุฒิพงศ์ ให้ความเห็นว่า เป็นเพราะเราไม่ได้วิจัยทางเทคโนโลยีอย่างจริงจัง แต่เราเป็นประเทศที่เสพและเทคโนโลยีเข้ามาอย่างเดียว หากเรามีการวิจัยเองก็จะมีความเข้าใจในเทคโนโลยีมากขึ้น และไม่ก่อให้เกิดปัญหา อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่เคยได้บริหารประเทศ มีแต่คนในภาคสังคมที่สั่งการลงมา จะโทษวิทยาศาสตร์ไม่ได้ต้องโทษมนุษย์ที่นำไปใช้ นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ตั้งใจดี แต่สังคมต่างหากที่เอาไปใช้ในทางไม่ดี
 
 
ที่มา- 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ตะลึง....ช็อค....เจ้าสัวยกที่ดิน 5,000 ไร่ คืนรัฐเพื่อรักษาป่าตะลึง....ช็อค....เจ้าสัวยกที่ดิน 5,000 ไร่ คืนรัฐเพื่อรักษาป่า

หมอแนะวิธีขจัดภัยหมอแนะวิธีขจัดภัย"สื่อ" โอดพฤติกรรมเยาวชน

แพทย์ยกกรณี ดี๋ ดอกมะดัน เตือนผู้ป่วยหอบหืด-ภูมิแพ้ ห้ามสูบบุหรี่เด็ดขาดแพทย์ยกกรณี ดี๋ ดอกมะดัน เตือนผู้ป่วยหอบหืด-ภูมิแพ้ ห้ามสูบบุหรี่เด็ดขาด



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

DMC NEWS