เหตุการณ์ในช่วงปลายพุทธกาลที่นำไปสู่การเกิดนิกายเถรวาท


[ 10 พ.ย. 2556 ] - [ 18268 ] LINE it!

เหตุการณ์ในช่วงปลายพุทธกาลที่นำไปสู่การเกิดนิกายเถรวาท

 

ในช่วงปลายพุทธกาลยังไม่ได้มีการแบ่งแยกนิกายแต่อย่างใด แต่พอสรุปเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การเกิดนิกายได้ดังต่อไปนี้

 

 

 พระภิกษุถือเคร่งในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน

         ในเรื่องความแตกแยกนี้มีมาตั้งแต่ในสมัยพุทธกาลในเรื่องของความเข้มข้นที่แตกต่างในการปฏิบัติ ทำให้พระสงฆ์เกิดความแตกแยกกัน เมื่อพระศาสดายังคงประชนม์ชีพอยู่ก็ทรงตัดสินชี้ขาดได้ แต่เมื่อปรินิพพานไปแล้วก็ไม่มีผู้ใดตัดสินได้ เพียงการปฏิบัติเล็กน้อยที่แตกต่างก็เป็นมูลเหตุของความแตกแยกได้ในที่สุด

 

บวกกับพระพุทธองค์ทรงมีพระดำรัสกับพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ สงฆ์เมื่อต้องการ ก็พึงถอนสิกขาบทเพียงเล็กน้อยโดยกาลล่วงไปแห่งเรา" (ที.ม. (ไทย) 10/216/165) ทรงอนุญาติให้สงฆ์สามารถยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อยได้ แต่ไม่มีพระภิกษุรูปใดตอบได้ว่าสิกขาบทเล็กน้อยนั้นคือสิกขาบทหมวดใดบ้าง ฝ่ายพระมหากัสสปะเห็นว่าให้คงสิกขาบทไว้ทุกข้อ ต่อมาทำให้มีพระภิกษุบางกลุ่ม หรือพระภิกษุต่างถิ่นต่างภูมิประเทศต่างสภาพอากาศ ที่เห็นแก่การประพฤติพรหมจรรย์เน้นปรมัตธรรม  ไม่เคร่งในสิกขาบทบางข้อ  โดยมีการตีความหมายของสิกขาบทเพื่อเอื้อประโยชน์แก่การปฏิบัติของตน ก็ทำให้เกิดข้อแตกแยกในการปฏิบัติ

 

ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้แทนพระพุทธองค์

พระบรมศาสดาทรงยกย่องพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะว่าเป็นผู้ที่สมควรจะปกครองพระภิกษุสงฆ์ได้   "ความจริงเราสารีบุตรหรือโมคคัลลานะเท่านั้นควรบริหารภิกษุสงฆ์" (ม.ม. (ไทย) 13/160/182) แต่ภายหลังพระมหาเถระท้ังสองรูปได้นิพพานไปก่อนพระพุทธองค์ พุทธองค์ถึงกับตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เมื่อสารีบุตรและโมคคัลลานะปรินิพพานแล้ว บริษัทของเรานี้ปรากฏเหมือนว่างเปล่า สารีบุตรและโมคคัลลานะอยู่ในทิศใด บริษัทของเราไม่ว่างเปล่า ไม่มีความห่วงใยในทิศนั้น" (สัง.ม. (ไทย) 19/380/235) น่ั่นคือหลังจากที่พระมหาเถระทั้งสองได้นิพพานแล้วไม่มีพระภิกษุรูปใดได้รับยกย่องในการบริหารสงฆ์แทนพระพุทธองค์ จึงทรงแต่งตั้งพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์ (ระแบบ ฐิตญาโณ, 2542 : 76) "ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย"  (ที.ม. (ไทย) 10/216/164)

พระพุทธศาสนาไม่มีพระเถระที่เป็นประมุขแทนพระบรมศาสดาได้ เมื่อมีความเห็นและข้อปฏิบัติในเรื่องธรรมวินัยแตกต่างกันในแต่ละท้องที่ พระภิกษุก็จะรับฟังพระเถระหรือพระสงฆ์ที่ตัวเองนับถือในท้องที่ของตนมากกว่า นี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของความแตกแยก

 

 

 

 ความสนใจเฉพาะทางที่ต่างกัน

ในสมัยพุทธกาลมีการแบ่งกลุ่มกันตามจริตอัธยาศัยของพระภิกษุ บวกกับการที่พุทธองค์ทรงแต่งตั้งพระภิกษุผู้เป็นเอตทัคคะทางด้านต่างๆ เช่น ภิกษุผู้ใคร่ในพระวินัยก็จะไปเป็นศิษย์ของพระอุบาลี ภิกษุผู้ใคร่ในธรรมก็จะเป็นศิษย์ของพระสารีบุตร พระอานนท์ เป็นต้น ภิกษุจริตเดียวกันพักในที่เดียวกัน มีการทรงจำบอกกล่าวร่ำเรียนพุทธวจนะสืบทอดกันมาเป็นสายๆ แต่พอนานวันเข้าก็เกิดเป็นฝักเป็นฝ่าย เกิดทิฏฐิมานะ เห็นว่าพวกของตนดีกว่ามาก่อน เช่น การทะเลาะเบาะแว้งกันของศิษย์พระวินัยธรและพระธรรมกถึก เป็นต้น เกิดเป็นความแตกแยกได้ในที่สุด

 

 ไม่ทรงขัดแต่ปรับปรุงคำสอนของลัทธิอื่นให้สมบูรณ์ขึ้น

การที่พระพุทธองค์ไม่กล่าวตำหนิคำสอนในลัทธิอื่น และมีหลายครั้งที่พุทธองค์ทรงตรัสเห็นพ้องด้วยกับคำสอนในลัทธิอื่น คือ ทรงปรับปรุงคำสอนนั้นให้สมบูรณ์ขึ้น เช่นในกูฏทัณฑสูตร การบูชายัญของพราหมรณ์ที่ต้องฆ่าสัตว์ ทรงแสดงธรรมว่าการฆ่าสัตว์นั้นไม่ประโยชน์เป็นบาป การบูชายัญที่ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ได้บุญมากกว่า เป็นต้น บวกกับพิธีกรรมต่างๆ เช่น การบำเพ็ญเพียร หากทำเพื่อความหลุดพ้นทำให้จิตบริสุทธิ์มากขึ้นก็ไม่ได้ทรงห้าม ดังนั้น จึงทำให้มีการบำเพ็ญตบะที่หลากหลาย ตลอดจนพิธีกรรมที่แตกต่างในหมู่ชาวพุทธ จึงนำไปสู่ความแตกแยกทางทัศนะได้อย่างง่ายๆ

 

 

 

จากมูลเหตุทั้งหมด พอจะสรุปว่าเกิดจากมีทิฏฐิสามัญญตา(ความเห็น) และสีลสามัญญตา(ข้อปฏิบัติ) ไม่ตรงกัน  เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่ออกไปมาก  ทำให้มีกุลบุตรเข้ามาบวชในพระธรรมวินัยมากขึ้น ซึ่งก็มีเจตนาในการบวชที่แตกต่างกัน บางคนตั้งในบวชบางคนก็ไม่ตั้งใจ ทำให้มีความเห็นและประพฤติเสื่อมเสีย ซึ่งก็เกิดจากการที่พระภิกษุสงฆ์ไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติให้เกิดผล(ปฏิเวธ)อย่างจริงจัง  เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นสาเหตุของความแตกแยกในที่สุด

 

อ่านต่อ เรื่อง การสังคายนาครั้งที่ 1 >>



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 1การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 1

การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 3การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 3

พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

พระพุทธศาสนา